【slot22xo】‘ตอบโจทย์ชีวิต’ นอกสถานศึกษา ‘วิถีเรียนรู้ ณ บ้านตาเพชร’ มีคีย์ซัคเซส..คือ ‘โมเดลยืดหยุ่น’ | เดลินิวส์
“ถ้าเรามีพื้นที่ปลอดภัยให้รวมกลุ่ม มีเพื่อนมีสังคมได้แสดงออก ได้ถ่ายเทความฝันและปันความรู้กัน เด็กก็จะเจอเป้าหมาย หรือเจอกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวของเขา” เป็นแนวคิดหลักเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้กับเด็ก ๆ ที่ “ฉัตรมงคล ภูเงิน” บอกเล่าไว้ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเริ่มต้นการทำงานกับเด็ก ๆ ที่ ชุมชนบ้านตาเพชร ต.นานวน อ.สนม จ.สุรินทร์ โดยหวังที่จะช่วยจุดประกายให้เด็ก ๆ ที่หลุดออกมาจากระบบการศึกษา ได้มีทักษะ มีเป้าหมาย และค้นพบเส้นทางชีวิตที่ควรเดินไป ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” ได้หยิบยกและนำเรื่องราวนี้มาบอกเล่าต่อ…
เรื่องราวของ “ชุมชนบ้านตาเพชร” แห่งนี้ ได้รับการถ่ายทอดไว้ใน เว็บไซต์กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. โดย “ทีมวิถีชีวิต” มองว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจ และน่าถ่ายทอดบอกเล่าต่อ เพื่อที่ชุมชนอื่น ๆ ที่อาจจะกำลังมีสถานการณ์คล้าย ๆ กันกับที่นี่ ได้นำไปปรับใช้ หรือใช้เป็นกรณีศึกษาได้ ทั้งนี้ ฉัตรมงคล หรือ “พี่นาย” ของน้อง ๆ เยาวชน ผู้รับผิดชอบ โครงการสานสัมพันธ์ชุมชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน และผู้ก่อตั้ง กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชร แห่งนี้ ได้บอกเล่าแรงบันดาลใจในการทำงานกับเด็กและเยาวชนที่ชุมชนนี้ไว้ว่า ตอนที่ตัดสินใจทำงานนี้ วันนั้นคิดแค่ว่าถ้าเด็กมีพื้นที่ให้เรียนรู้ ก็น่าจะช่วยทำให้เด็ก ๆ พบว่าตนเองพัฒนาได้ ตนเองมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ จากนั้นเด็กก็จะเริ่มตั้งเป้าหมายกับอนาคต ซึ่งเขามองว่าเรื่องนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และจะช่วยทำให้เห็นภาพว่าเด็กคนนั้นจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ หรือจะระหกระเหินบนความสุ่มเสี่ยง ที่ไม่รู้ว่าสายลมชีวิตจะพัดพาชีวิตเด็กคนนั้นไปทางไหน
“ที่บ้านตาเพชรนั้น ชุมชนเรามีแต่คนทำเกษตรกรรม พอหมดหน้านาก็ไม่มีงาน ใครที่ไม่มีอาชีพเสริมก็ไม่มีเงิน พอไม่มีเงิน เด็ก ๆ ก็ไม่ได้เรียนต่อ แล้วเด็กก็หลุดออกมาจากการศึกษา เด็กบางคนก็มีลูกมีครอบครัวกันไวทั้งที่ยังไม่พร้อม ซึ่งสถานการณ์นี้กลายเป็นวงจรชีวิตที่วนลูปอย่างนี้” เป็น “ภาพชีวิต” ที่ฉัตรมงคลสะท้อนไว้ หลังตัดสินใจลงพื้นที่ติดตามปัญหานานกว่า 1 ปี จนเห็นความเป็นไปของชุมชนแทบทุกตารางนิ้ว โดยเขาฉายภาพชุมชนแห่งนี้เพิ่มเติมว่า บ้านตาเพชรเป็นตำบลเล็ก ๆ มีอยู่ 13 หมู่บ้าน พื้นที่ก็ไม่ใหญ่ ผู้คนก็ไม่เยอะ ทำให้แค่เวลาเพียงปีเดียวเขาก็บอกได้หมดแล้วว่าใครเป็นคนบ้านไหน เด็กคนไหนเป็นลูกหลานใคร พ่อแม่ชื่ออะไร ซึ่งช่วงที่ลงพื้นที่สำรวจนั้น ก็ทำให้เขาได้เข้าไปพบกับเด็กกลุ่มเสี่ยงด้วย จึงพบว่าเด็กคนไหนมีแววออกจากโรงเรียน หรือเด็กคนไหนที่ต้องออกมาจากโรงเรียน และเป็นเพราะปัจจัยอะไร
“พอเราเข้าไปเจอเด็กกลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้ ก็ทำให้เราเห็นว่า เด็ก ๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษา เด็กที่หลุดออกมาจากโรงเรียน พอหลุดมาแล้ว เด็กมักจะไม่มีเป้าหมายชีวิต หรือไม่รู้ว่าวัน ๆ หนึ่งเขาจะทำอะไร เพราะมันมีไม่กี่ทางให้เขาเลือก ทำให้ถ้าไม่จับกลุ่มแว้น ก็ติดน้ำกระท่อม หรือบางคนเรียน ๆ อยู่แต่เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา ก็ต้องลาออกมาเลี้ยงลูก หรือกลุ่มที่จบ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งนั้น บางส่วนก็ไปทำงานรับจ้าง และสักพักก็จะมีครอบครัว มีลูก กลายเป็นวงจรซ้อนทับเข้าอีหรอบเดิม ทำให้ผมคิดว่า ถ้าไม่มีใครเข้าไปหาไปช่วยให้เขามีอะไรทำ ลูปที่ว่านี้มันก็จะวนไปไม่สิ้นสุด” เขาฉายภาพไว้ถึงสถานการณ์ปัญหาที่พบ ที่เกิดขึ้นที่นี่ ก่อนจะเริ่มโครงการนี้
สำหรับเส้นทางชีวิตของตัวเขาเองนั้น เขาก็ได้บอกเล่าไว้ว่า เขาเป็นคนบ้านตาเพชรโดยกำเนิด แต่ด้วยความที่สนใจการทำอาหาร จึงไปเรียนการทำอาหารอย่างจริงจัง ซึ่งพอเรียนจบแล้ว เขาก็ออกเดินทางตามฝันด้วยการไปทำงานร้านอาหารในต่างประเทศ จนไต่เต้าขึ้นเป็นหัวหน้าเชฟครัวไทยที่ดูไบ โอมาน กาตาร์ มัลดีฟส์ ศรีลังกา ก่อนจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งตอนนั้นเองที่เขาตัดสินใจว่าจะกลับบ้าน โดยเขาเล่าว่า จริง ๆ ช่วงก่อนจะเกิดโควิด เขาได้ข้อเสนองานที่เยอรมัน และกำลังเตรียมตัวจะไปยุโรปอยู่แล้ว แต่มาเกิดโควิดเสียก่อน แผนทุกอย่างก็จึงต้องพับไป เขาจึงเลือกที่จะกลับเมืองไทย หลังจากไปทำงานอยู่ต่างประเทศโดยที่ตลอดเวลา 15-16 ปีนั้นเขากลับบ้านได้แค่ปีละครั้งเท่านั้น
“จำได้ว่าทุกครั้งที่กลับบ้าน เราไม่เคยมองไปรอบ ๆ อย่างจริงจังเลย จนเมื่อได้งานเป็นนักพัฒนานั่นแหละ เราถึงมีเวลามองชุมชนที่เกิดและเติบโตด้วยความคิดและสายตาที่ต่างไป จนเห็นอะไรชัดขึ้น มันเลยจุดประกายว่าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ให้คนทุกคนพึ่งพาตัวเองได้” เขาเล่าไว้ พร้อมบอกไว้อีกว่า พอความคิดบังเกิด ประสบการณ์ที่สั่งสมมาก็ทำหน้าที่กลั่นกรองว่า ลำพังแค่คิดอย่างเดียวคงไม่มีทางทำอะไรได้ ถ้าไม่ลงมือทำ และต้องหาเพื่อนร่วมทางเพื่อทำภารกิจนี้ เพราะรู้ดีว่าไม่อาจทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว นอกจากนั้นก็ยังต้องมีทุนมาช่วย และจังหวะนั้นเองเป็นช่วงเดียวกับที่ กสศ. ทำโครงการทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และทุนพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ร่วมกับ ต.หนองสนิท ที่อยู่ห่างจาก ต.นานวน ไปราว 20 กิโลเมตร เขาจึงสนใจทันที
เขาเล่าไว้ต่อไปว่า หลังจากเขาได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ กสศ. ก็พบว่ามีเป้าหมายตรงกัน เขาจึงเขียนโครงการเสนอเข้าไป และได้รับพิจารณา ทำให้จากวันนั้นแนวคิดการ พัฒนาเด็กในชุมชนบ้านตาเพชร ของเขาก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้น พร้อมกับการจัดตั้ง “กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชร” ในปี 2565 ที่เขาและภาคีเครือข่ายชุมชนร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยแม้จะระบุชื่อกลุ่มเป็นกลุ่มเกษตร แต่เขาบอกว่าเป็นเพียงการปูพื้นฐานอาชีพสำหรับคนที่ยังไม่เจอความสนใจเฉพาะทางเท่านั้น เพราะเนื้อในของกระบวนการจริง ๆ จะมุ่งส่งเสริมวิชาชีพ วิชาการ และวิชาชีวิตแบบผสมผสาน โดยเน้นให้เยาวชนค้นพบและต่อยอดทักษะที่ตนสนใจ ผ่านหลักสูตรที่ปราชญ์ชุมชนจากหลายสาขาอาชีพช่วยกันวางแนวทางไว้ อาทิ งานช่าง ทอผ้าไหม ค้าขายออนไลน์ และที่ขาดไม่ได้เลยคือทักษะที่เขาเชี่ยวชาญที่สุด นั่นคือการทำอาหาร
“เราออกแบบการเรียนรู้ใหม่ เพราะถ้าถอดแบบโรงเรียนมาทำคงไม่มีทางได้ผล ไม่งั้นเด็ก ๆ จะออกมาจากโรงเรียนกันทำไม” ฉัตรมงคล บอกไว้ถึงเหตุผลที่ต้องดีไซน์การเรียนรู้ขึ้นมาใหม่
ทั้งนี้ ฟังจากผู้ก่อตั้งกลุ่มแล้ว ลองมาฟัง “ผู้ใช้งานหลักสูตร” คือเยาวชนที่มาเข้าร่วมโครงการนี้ดูบ้าง เริ่มจาก “ยีน” เยาวชนวัย 20 ปี รุ่นแรกของกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชร ที่บอกเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เธออยู่กับกลุ่มต่อมาเรื่อย ๆ แม้หมดวาระโครงการปีแรกไปแล้วก็ตาม โดยเธอเล่าไว้ว่า รู้สึกสนุกที่ได้ร่วมโครงการนี้ เพราะเมื่อมาถึงสถานที่แล้ว หลังประชุมครึ่งวันเสร็จ เด็ก ๆ ทุกคนก็จะได้ออกไปลงมือทำเรื่องที่สนใจต่อทันที ต่างจากตอนที่อยู่ในโรงเรียน ที่ต้องเข้าเรียนทุกคาบ ซึ่งกินเวลาทั้งวันแทบทุกวัน จึงรู้สึกชอบที่มาเรียนแบบนี้มากกว่า โดยยีนเล่าไว้อีกว่า ในครอบครัวเธอไม่มีใครได้เรียนมากกว่าชั้น ม.3 เพราะต้องใช้เงินมาก แต่ส่วนตัวเธอเองก็ไม่ได้ชอบไปโรงเรียนเท่าไหร่ จึงออกจากโรงเรียน โดยช่วงที่ไม่ได้เรียนต่อนั้น เธอไม่มีงานจริงจัง ทำเพียงรับจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ และช่วยที่บ้านทำนาทำไร่ตามฤดูกาล จน พี่นาย ชวนมาทำกิจกรรมที่นี่
“ตอนนั้นหนูว่างอยู่แล้ว แล้วเอาจริง ๆ ถึงหนูจะไม่ชอบเรียน แต่หนูก็คิดเสมอว่าถ้ามีโอกาสก็อยากเรียนต่อ เพราะที่นี่ไม่มีอะไรให้ทำเลย” ยีนบอกเรื่องนี้ พร้อมเล่าให้ฟังไว้อีกว่า เมื่อมาอยู่กับโครงการนี้ ทำให้เธอได้เรียนรู้การปลูกผัก ซึมซับทฤษฎีและเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำเกษตร ตั้งแต่เริ่มเตรียมดิน หยอดเมล็ด จนถึงขั้นตอนการขาย “ความรู้พวกนี้เอาไปทำอะไรต่อได้เยอะ แถมทำแล้วมีรายได้ทันที ต่างจากไปโรงเรียน” ยีนสะท้อนมุมมองของเธอไว้
ขณะที่เยาวชนอีกคนที่มาร่วมกิจกรรมนี้ อย่าง “ปิ่น” วัย 18 ปี ที่เรียนถึงชั้น ปวช.2 แล้วตัดสินใจไม่ไปต่อ รายนี้เล่าไว้ว่า จริง ๆ เธอเรียนดี แต่ขี้เกียจไปเรียน เพราะเหนื่อยกับการขี่รถไปกลับ ทำให้ยอมแพ้และตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน โดยปิ่นบอกไว้ว่า จริง ๆ เธอชอบทำอาหารและขนม ดังนั้นการได้มาทำกิจกรรมที่นี่สำหรับเธอจึงเป็นการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความสนใจของตัวเธอมาก และนอกจากนั้นก็ยังสนุกที่ได้มาเจอเพื่อน ๆ ที่ไม่ถูกกับโรงเรียนเหมือน ๆ กับเธอ ส่วนความรู้ที่ได้เรียนรู้จากที่นี่นั้น ปิ่นบอกไว้ว่า อย่างเรื่องปลูกผัก เธอก็เอาไปต่อยอดทำที่บ้านด้วย เพื่อปลูกไว้กินในครอบครัว แถมถ้าเหลือกิน ก็เก็บไปขายต่อได้เงินเข้ากระเป๋าด้วย ด้วยเหตุนี้ ปิ่นจึงชอบที่ได้มาเรียนใน “ห้องเรียนชีวิต” แบบนี้ มากกว่าเรียนในโรงเรียน
คำบอกเล่าจาก 2 เยาวชน อย่าง “ยีน” และ “ปิ่น” แม้จะฉายภาพชีวิตเด็กทั้งหมดไม่ได้ แต่ก็อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ไม่มากก็น้อย สะท้อนว่าเด็กบางส่วนที่ไม่เรียนต่อนั้น ไม่ได้มีเพียงปัจจัยเรื่องเงินอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่น ๆ เกี่ยวข้องด้วย และจากเรื่องนี้นี่เองที่ทำให้ “ฉัตรมงคล” ผู้รับผิดชอบโครงการ จึงดีไซน์หลักสูตรการเรียนรู้ขึ้นใหม่ โดยเขาบอกว่า สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้จากการเป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ คือ ในบางสถานการณ์ บางพื้นที่ หรือกับเด็กบางคน เราห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้เขาหลุดออกมาจากโรงเรียน ยิ่งในยุคสมาร์ทโฟน แค่ขี่รถไปตลาดนัดก็เสี่ยงแล้ว เจออีกทีก็ข้างนอกโรงเรียนเลย หรือบางคนตั้งครรภ์ ถึงอยากเรียนก็จำเป็นต้องออก ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือต้องหาวิธีสื่อสารกับเด็ก เพื่อชวนเขา เพื่อพยายามเอาทักษะต่าง ๆ มารวมกันให้เด็กค่อย ๆ ซึมซับ แล้วที่สำคัญ หลักสูตรต้องยืดหยุ่นไม่ตายตัว และเอื้อต่อการใช้ชีวิตของเด็ก ด้วย
“ถ้าทำเป็นหลักสูตรแข็ง ๆ แล้วเอาไปยัดใส่เด็กโพละเดียวเลย ไม่ต้องทำก็รู้ว่า ถึงชวนเด็กได้ แต่เขามาทีเดียวแล้วก็จะหายไปเลย ตรงนี้เป็นกุญแจสำคัญว่าถ้าจะถอดแบบจากโรงเรียนมาทำ คงไม่มีทางได้ผล ไม่งั้นเด็ก ๆ จะออกมาจากโรงเรียนกันทำไม” ฉัตรมงคลระบุไว้ถึงสิ่งที่เขาค้นพบจากการทำงานนี้ พร้อมกับยกตัวอย่างรูปแบบการเรียนรู้ที่ดีไซน์ขึ้นมาว่า อย่างเขาสอนทำแซนด์วิช เขาก็จะเอาผักที่ปลูกมาเป็นวัตถุดิบ พอเด็กเห็นก็สนใจ จึงอยากหัดทำ และพอทำเป็นก็เอาไปลองขายหน้าโรงเรียน ปรากฏขายได้ขายดี เด็กก็มีกำลังใจ ทีนี้ก็อยากที่จะมาฝึกทำอย่างอื่นอีก หรือมีแรงบันดาลใจที่อยากจะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น รอบรู้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นคำตอบได้เลยว่า ถ้าสามารถทำให้เด็กเขาเข้าใจ แม้ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน แต่เด็ก ๆ ก็ยังสามารถเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นกับชีวิตตัวเองได้ เช่นกัน
ทั้งนี้ “ฉัตรมงคล” หรือ “พี่นาย” ของเด็ก ๆ ยังพูดถึง “ความท้าทาย” ที่อยากทำให้สำเร็จไว้ว่า อย่างแรกคือ ทำยังไงจะส่งต่อเด็กที่หลุดจากระบบให้ไปในทิศทางที่ดีได้ อย่างที่สองคือ ทำยังไงถึงจะสกัดให้เด็กหลุดออกมาน้อยลง เนื่องจากเขาเชื่อว่า การศึกษากับการเรียนรู้ต้องเป็นสิ่งเดียวกัน และต้องไม่มีกรอบเกณฑ์ตายตัว เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด การออกแบบหลักสูตรจึงต้องหลากหลาย และช่วยให้เด็กเอาสิ่งที่เสียเวลาเรียนไปใช้ได้ในชีวิตจริง เด็กก็จะเจอเป้าหมาย เจอกระบวนเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเด็กเอง โดยขอแค่มีที่ทาง มีตาข่ายรองรับให้ชีวิตได้ลองผิดลองถูก ไม่ใช่ใครผิดพลาดแล้วถูกคัดทิ้ง หรือถูกตีตราไปทั้งชีวิต …เขาระบุ พร้อมตอบคำถามที่ว่าวันนี้ยังคิดที่จะออกเดินทางท่องโลกเหมือนในอดีตอีกหรือไม่ ซึ่งเขาบอกไว้ว่า… “ตอนนี้ไม่คิดเดินทางไปไหนอีกแล้ว เพราะอยากอยู่กับเด็ก ๆ และอีกอย่าง ก็เพราะตอนนี้…ฝันของเขานั้นอยู่ที่นี่แล้ว”.
ตอบโจทย์ชีวิตนอกสถานศึกษาวิถีเรียนรู้ณบ้านตาเพชรมีคีย์ซัคเซสคือโมเดลยืดหยุ่นเดลินิวส์‘สร้างพื้นที่ถ่ายเทความฝัน’
“ฉัตรมงคล ภูเงิน” บอกเล่าไว้ด้วยว่า การที่ได้มาเริ่มต้นทำงานจาก “ชุมชนเล็ก ๆ” แบบนี้ “มีข้อดี คือ รู้ง่ายและเจอเร็ว” ว่าเด็กเป็นใคร อยู่ตรงไหน ทำอะไรอยู่ เพราะภาคีเครือข่ายที่ดูแลชุมชนอยู่แล้ว อย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. จะมีข้อมูลระดับลึกของทุกครัวเรือนอยู่แล้ว เมื่อทุกฝ่ายเข้าใจจุดประสงค์จึงเริ่มงานได้ทันที และอีกข้อดีของชุมชนเล็ก ๆ ก็คือ ได้รับความร่วมมือของชุมชนได้ง่ายกว่า โดยคุยกันแป๊บเดียว ก็เข้าใจ และทำงานได้ทันที นอกจากนั้น ยิ่งเริ่มต้น ยิ่งตั้งต้นในชุมชนเล็ก ๆ ยิ่งง่ายต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ เพื่อให้เด็กใช้เป็นพื้นที่เพื่อรวมกลุ่ม ได้มีเพื่อนมีสังคม ได้แสดงออก และกล้าปลดปล่อยความคิดตัวเองออกมาอย่างอิสระ รวมถึงการที่เป็นพื้นที่เล็ก ๆ เช่นนี้ยังดีต่อการที่เด็ก ๆ จะได้ “ถ่ายเทความฝันและปันความรู้” ให้แก่กันและกันง่ายขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลอย่างมากในการ “ช่วยนำทางเด็ก” ให้ได้ไปเจอกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเขา และอีกประการก็คือ พอเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ทำให้ดูแลได้ทั่วถึง ซึ่งช่วยได้มากในการทำให้เด็ก ๆ เกิดความไว้ใจ.
ตอบโจทย์ชีวิตนอกสถานศึกษาวิถีเรียนรู้ณบ้านตาเพชรมีคีย์ซัคเซสคือโมเดลยืดหยุ่นเดลินิวส์ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน
(ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กสศ.)