【ไวกิ้ง vs โมลด์】จับกระแส-ทิศทางโลก ในปี 2568 | เดลินิวส์

ในปี 2568 คงไม่มีบุคคลใดเป็นที่กล่าวถึงจากชาวโลกไปมากกว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสมัยที่สอง ในวันที่ 20 ม.ค. 2568 ทั่วโลกผ่านการอยู่ร่วมกับรัฐบาลทรัมป์สมัยแรกมาแล้ว แม้เว้นวรรคไป 4 ปี กับสหรัฐในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่อเมริกาในอีก 4 ข้างหน้า มีความเป็นไปได้สูงมาก ว่าโลกจะต้องเผชิญกับความผันผวน และสถานการณ์ที่เหนือความคาดหมายอีกครั้ง

จับกระแสทิศทางโลกในปีเดลินิวส์

ความท้าทายที่รอทรัมป์อยู่ก่อนแล้ว คือสงครามในฉนวนกาซา ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 และสงครามในยูเครน แม้ความรุนแรงและความสูญเสียจากการสู้รบในสมรภูมิทั้งสองแห่ง ยังห่างไกลกับเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สองอยู่มาก แต่นับตั้งแต่วิกฤติการณ์ระดับโลกครั้งนั้น นี่เป็นครั้งแรก ที่โลกเผชิญกับความขัดแย้งทางอาวุธเป็นวงกว้างเช่นนี้

จับกระแสทิศทางโลกในปีเดลินิวส์

ขณะเดียวกัน บรรดา ผู้เล่น ในสงครามยุคใหม่ มีจำนวนมากกว่าสมัยสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเน้นไปที่สหรัฐและสหภาพโซเวียตเป็นหลัก การมีบทบาทของทั้งจีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ อินเดีย ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยูเครน หรือแม้กระทั่งอิหร่าน สะท้อนว่า ระเบียบและขั้วอำนาจโลกเปลี่ยนไปแล้ว

จับกระแสทิศทางโลกในปีเดลินิวส์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากบางประเทศในกลุ่มดังกล่าวเดินหน้าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ อย่างจริงจังและเปิดเผย มาตรฐานของการตรวจสอบจะเป็นอย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย ว่าจะได้มาตรฐานและ มีความเที่ยงธรรม

จับกระแสทิศทางโลกในปีเดลินิวส์

ใครจะไปรู้ ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจได้เห็นทรัมป์ในฐานประธานาธิบดีสหรัฐ ทักทายอย่างยิ้มแย้ม หรือถึงขั้นโอบกอด กับทั้งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ระหว่างการเจรจาสันติภาพ ที่ทรัมป์ให้คำมั่นตั้งแต่ช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง ว่าจะทำให้ทั้งสองประเทศยอมวางอาวุธ และ สงครามที่ไม่ควรเกิดขึ้น ต้องยุติทันที ซึ่งหากทำได้จริง แน่นอนว่า ทรัมป์จะได้รับการสรรเสริญยกย่องจากประชาคมระหว่างประเทศ

จับกระแสทิศทางโลกในปีเดลินิวส์

แม้รูปแบบของสงครามในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปอย่างมาก แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความขัดแย้งและการห้ำหั่นกันทางทหาร จะยังคงเป็น อุตสาหกรรม ที่ดึงดูดเม็ดเงินมหาศาลต่อไป อเมริกามีแผนใช้งบประมาณกลาโหม 895,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 30.6 ล้านล้านบาท) องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) มีแผนใช้จ่าย 1.47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 50.2 ล้านล้านบาท) รัสเซียกำหนดเป้าหมายไว้ 125,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.27 ล้านล้านบาท) บรรดาผู้นำโลกยังคงแสดงจุดยืนพร้อมปะทะ โดยแทบไม่มีใครที่แสดงออกอย่างจริงใจเลยว่า ต้องการจะหยุด

จับกระแสทิศทางโลกในปีเดลินิวส์

สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ล้วนเผชิญกับวิกฤติการเมืองภายใน จากการที่รัฐบาลเริ่มไม่มีเสถียรภาพ ท่ามกลางอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ผู้อพยพยังคงหลั่งไหล ขณะที่วิกฤติการณ์ในตะวันออกกลางในอีกด้านหนึ่ง อาจกลายเป็น “กาารถ่วงดุล” ให้กับนโยบายความปลอดภัยแบบอเมริกา หรือการลงทุนแบบจีน

จับกระแสทิศทางโลกในปีเดลินิวส์

แอฟริกาจะยังคงเป็นทวีปที่อยู่บนเส้นทางของการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ซูดานยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับวิกฤติการณ์เลวร้ายที่สุดของโลก ประชาชนมากกว่า 10 ล้านคนยังคงมีสถานะพลัดถิ่นฐาน และเผชิญกับความอดอยาก ส่วนซีเรียแม้สิ้นสุด ระบอบอัสซาด อย่างเป็นทางการ แต่อนาคตนับจากนี้ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

จับกระแสทิศทางโลกในปีเดลินิวส์

ทั้งนี้ทั้งนั้น สงครามและความรุนแรงซึ่งยังคงยืดเยื้อในหลายภูมิภาคจะยังคงส่งผลกระทบต่อความพยายามฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของทุกประเทศบนโลก ในระดับที่แตกต่างกันออกไปในปี 2568 โดยอเมริกากับยุโรปจะยังคงได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด

จับกระแสทิศทางโลกในปีเดลินิวส์

ทรัมป์ยังคงดึงดันที่จะใช้นโยบายสายเหยี่ยวสุดขั้ว ทั้งในด้านการจัดการผู้อพยพและเศรษฐกิจ ที่จะเป็นการขึ้นภาษีครั้งใหญ่กับประเทศคู่ค้าทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการดำเนินการเหล่านั้น อาจย้อนศรกลับมาหาสหรัฐเองเช่นกัน เพราะสินค้าของอเมริกาจะแข่งขันในตลาดโลกได้น้อยลง สวนทางกับค่าแรงในประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้น เพราะไม่ว่าอย่างไร สหรัฐไม่อาจปฏิเสธได้ว่า จีน คือโรงงานของโลก

จับกระแสทิศทางโลกในปีเดลินิวส์

ในปี 2568 ประชาคมโลกเฝ้ารอให้สงครามยุติ คาดหวังเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความหิวโหย ความยากจน และความไม่เท่าเทียม จะยังคงมีอยู่ ทุกคนบนโลกล้วนต้องเผชิญหน้า และฝ่าฟันความทุกข์ยากเหล่านี้ร่วมกันต่อไป ตราบใดที่ความขัดแย้งทางอาวุธ ยังไม่ยุติอย่างสมบูรณ์…

จับกระแสทิศทางโลกในปีเดลินิวส์