【ดูทีวีสดช่อง32】“WHA” เปิดบ้านครั้งแรก โชว์ศักยภาพการเป็นเทค คอมพานี พร้อมมุ่งสู่ความยั่งยืนตามแนวคิด ESG | เดลินิวส์

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)(WHA Group) จัดงาน WHA Open House 2024: Explore -Discover – Shape the Future  ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ย.2567 เป็นการเปิดบ้านครั้งแรกเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพพร้อมการดำเนินธุรกิจด้วยการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีล้ำสมัย พร้อมเจาะลึก WHA Group ใน 4 กลุ่มธุรกิจหลักได้แก่ 1.โลจิสติกส์ ในฐานะผู้บุกเบิกแนวคิดคลังสินค้าแบบ Built to Suit และ  โมบิลิกส์ โซลูชันกรีนโลจิสติกส์เพื่อธุรกิจยุคใหม่  2.นิคมอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (SMART ECO Industrial Estates) 3.ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน มุ่งสร้างการเติบโตพร้อมกับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมควบคู่กับการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยี มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น Solar Forecasting, Solar Anomaly และ RO system Performance Forecasting  และ 4.ธุรกิจดิจิทัลโซลูชัน  โครงการดิจิทัลที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเป็น Tech and Sustainable Company และโซลูชันดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ 

WHA

เพื่อให้เห็นการขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน WHA ได้นำเสนอแง่มุมธุรกิจทั้งระบบนิเวศผ่านนิทรรศการ และเวทีเสวนาพิเศษที่มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน  ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่ในการทดลองใช้งาน Mobilix โซลูชันกรีนโลจิสติกส์ครบวงจรรายแรกของไทย

WHA

สำหรับงาน WHA Open House 2024: Explore – Discover – Shape the Future ยังมีเสวนา ในหัวข้อเรื่อง “ESG: Shape the Future with Sustainability Growth and Circularity​” โดย ไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์  บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  ณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ  ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมเครือข่าย โกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย  ประสิทธิ์ ไวยาวัจมัย พาร์ทเนอร์และกรรมการบริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด  และเสวนาในหัวข้อเรื่อง “Co-Creating the Future: WHA s Mission for Sustainable Community Development  รวมพลังความร่วมมือสร้างอนาคตกับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน  โดยมี  รักษ์พล กังน้อย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการนิคมอุตสาหกรรม บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) นุชนาถ การสูงเนิน ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง)  วิไลวรรณ พรายเพชร รองประธานกลุ่มสัมมาชีพชุมชนบ้าน ชากมะหาด ประทีป จุฬาเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษาภาคตะวันออก พันจ่าเอกมนตรี ม่วงทำ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม  องค์การบริหารส่วนตำบลเขาคันทรง ร่วมเวทีเสวนา

WHA

**  “เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี” คือ โอกาสทางธุรกิจ

WHA

ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ  ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศ กล่าวว่าการที่จะมีองค์กรแห่งความยั่งยืน ต้องมีคู่ค่าต้องมีพันธมิตร  เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก เป็นการรวมตัวทางธุรกิจ 25,000 แห่งทั่วโลก  ความยั่งยืนของโกลบอลคอมแพ็กไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจต้องดีก่อน หรือสังคมต้องดีก่อน เราจะมองไปข้างหน้าว่าทำอย่างไร อีก 30 ปีทรัพยากรจะยังไม่หมด สังคมจะไม่แย่ไปกว่านี้ ดังนั้นสังคมต้องมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ เช่น ผู้มีความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ด้านพลังงาน หรือสังคม

WHA

“เชื่อหรือไม่ว่าคนเจเนเรชันใหม่ทั่วโลก ไม่ได้สนใจเลือกซื้อสินค้าที่แบรนด์เนม เพราะเขามองว่า เป็นสิ่งที่ไม่ได้เพิ่มความเท่แล้ว เขาจะมองว่าจะอยู่อย่างไรต่อไปอีก 20-30 ปี  ต่อไปคนเจนเนอเรชั่นใหม่จะพิจารณาการซื้อสินค้าที่ละเอียดมากขึ้น สินค้าที่ผลิตออกมาส่งผลกระทบต่อโลกหรือไม่ นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้วผู้คนยังต้องเจอกับสภาพอากาศที่ปรวนแปร  ฝนตกน้ำท่วม ซึ่งอีก10 เราไม่สามารถคาดการณ์ภูมิอากาศได้  ดังนั้นภาคธุรกิจต้องจัดทำแผนรับมือความเสี่ยงเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นมาจะจัดการให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างไร” ดร.ธันยพร กล่าว

WHA

ดร.ธันยพร  กล่าวว่าแนวโน้มเทรนด์การใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งทั่วโลกจะลดลงในปี 2025 การใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งจะลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ คนรุ่นใหม่จะเข้าใจดีว่าพลาสติกชนิดไหนรีไซเคิลได้ รียูสได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านได้ค้นพบว่าการรียูสไม่ดีจริง  ดังนั้นการทำธุรกิจที่เป็น “เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี” (Circular Economy) คือ แนวคิดเศรษฐกิจแบบใหม่ เน้นผลิตสินค้าและบริการจากวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมา “หมุนเวียนใช้ใหม่” จึงเป็นโอกาส อย่างไรก็ตามการผลิตสินค้าเพื่อโลกที่ยั่งยืน ผู้ที่กำหนดเทรนด์คือกลุ่มประเทศอียู แม้ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐ ญี่ปุ่น  จีน แต่ประเทศกลุ่มอียูก็เป็นผู้นำและกำกับควบคุมทั้งซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจีนกำลังเรียนรู้จากกลุ่มประเทศอียู  นั่นหมายความว่าเมื่อผลิตสินค้าต้องมีระบบบตรวจสอบได้ทั้งซัพพลายเชนว่า มีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย

WHA

**“ไบโอซิตี้”ใหญ่กว่า “ไคลเมทเช้นจ์”ต้องใส่ใจความหลากหลายทางชีวภาพ

WHA

ประสิทธิ์ ไวยาวัจมัย พาร์ทเนอร์และกรรมการบริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด กล่าวว่า  อีอาร์เอ็มฯ เป็นพันธมิตรกับหลายบริษัท และเป็นที่ปรึกษาทางความยั่งยืนของ WHA ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมาบริษัททำเรื่องของโกลบอลเทรนด์  (Global Trend) และมีการอัพเดทตลอดเวลา อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้เอไอ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้สอดคล้องกับโลกอนาคต แต่เรื่องที่สำคัญในอนาคตคือการที่ธุรกิจอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะถูกมองว่าขาดจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ สิ่งที่จะตามมาจะไม่มีคู่ค้า

WHA

ในเรื่องต่อมาคือ Integrated ESG ( Environmental Social and Governance) เราได้ยินคำว่าความยั่งยืน มานาน 6-7 ปี แต่สิ่งที่ทั่วโลกคาดหวังคือธุรกิจต้องให้ความสนใจกับ ESG  ไม่ใช่แค่มีแผน แต่ไม่ลงมือปฏิบัติ หรือบางบริษัทก็เป็น “Greenwashing” หรือ “ฟอกเขียว” คือพูดเกินจริง  หรืออีกคำ “Green  Trust” บางบริษัทกลัวว่าจะถูกตรวจสอบ จึงไม่เขียนอะไรเลย  บางครั้งไม่เขียนไม่ได้แปลว่าไม่ได้ทำ แต่เพราะกลัวว่าคนจะมาลอกเลียนแบบ  ดังนั้นต้องอยู่ตรงกลางเขียนแล้วทำได้จริง เขียนแต่พอดี หลายๆ ครั้งต้องมีหน่วยงานเข้ามากำกับ  แต่ถ้าเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีระบบตรวจสอบจากตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว แต่ถึงเป็นบริษัทขนาดเล็ก ก็ถูกจับตาว่าทำธุรกิจอย่างยั่งยืนหรือไม่เหมือนกัน

WHA

นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องคือ  “ไบโอซิตี้” (Bio city)  คือต้องมาวิเคราะห์ว่าธุรกิจได้รับผลกระทบหรือส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงความหลากหลายทางชีวภาพ  เป็นคำที่ใหญ่กว่า “ไคลเมทเช้นจ์”  (Climate Change) เพราะมีสิ่งมีชีวิตทั้งพืช และสัตว์ และสิ่งไม่มีชีวิตหลากหลายรวมอยู่ในนั้น  นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงระบบการผลิต สินค้าที่ผลิตออกมาผู้บริโภคนำไปใช้เสร็จแล้ว ต้องไม่ตกค้างอยู่ในหลุมฝังกลบ  ต้องทำสินค้าให้สามารถรียูสหรือรีไซเคิลให้มากที่สุด ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการบริหารจัดการพลังงานอย่างคุ้มค่า  การจัดการของเสีย โดยอียูกำลังจะออก Action  Plan สำหรับ Circular Economy ที่เริ่มต้นตั้งแต่ออกแบบดีไซน์ตัวผลิตภัณฑ์  ต้องนำมารียูสได้ไม่ยาก สร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภค ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียนก็มีเฟรมเวิร์กคล้าย ๆกัน ขณะที่ประเทศไทยมีสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่ออกตัวไกด์ไลน์สำหรับ Circular Economy

WHA

นอกจากนี้ จะเห็นแนวโน้มของความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่มากขึ้น จากการออกกฎหมาย EPR  (Extended Producer Responsibility) ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการร่างกฏหมาย  ในอดีตการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อะไรก็แล้วแต่ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภค แต่ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ไม่กลับไปสู่กระบวนการรีไซเคิลและรียูสทั้งหมด เพราะระบบโลจิสติกส์ไม่ดี หรือกระบวนการขั้นตอนต่างๆทำได้ยาก  ดังนั้นต้องอาศัยผู้ผลิตเป็นผู้รับผิดชอบ  ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบโลจิสติกส์ออกแบบใช้ง่าย  ทำผลิตภัณฑ์ให้รีไซเคิลได้ เป็นต้น

WHA

**WHA สร้างระบบโลจิสติกส์สีเขียว ทั้งซัพพลายเชน

WHA

ไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์  บริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราตระหนักดีว่าธุรกิจเรามีผลกระทบต่อสังคม เริ่มต้นเราเน้นเรื่องกรีน และความยั่งยืน มีการตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุ Net Zero ภายในปี 2050 ได้ริเริ่มการทำแผนแม่บทเพื่อตอบโจทย์ใน 4 ธุรกิจหลัก รวมถึงการตอบโจทย์ เซอคูลาร์ อีโคโนมี ต่าง ๆดังนี้ 1.ทำให้ธุรกิจที่ทำอยู่มีความยั่งยืน  2. ครีเอทธุรกิจใหม่ที่ตอบรับกับความยั่งยืน  ทั้งนี้การสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ ได้เข้าไปควบคุมเข้มงวดทั้งซัพพลายเชน ซึ่งเริ่มดำเนินการมา 2 ปี แล้ว วันนี้ลูกค้าที่เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาในนิคมฯ ต้องการเห็นการบริหารจัดการพื้นในเรื่องของความกรีน  ตัวอย่างเช่นจะมีคำถามว่าเรามี RE 100  (Renewable Energy 100 %) แค่ไหน  โดยเราคำนึงถึง 4 เรื่องหลัก คือ 1.วัสดุที่ใช้ อย่างเช่นในโครงการก่อสร้างในส่วนของทางเดิน มีการใช้วัสดุเหลือใช้จากโครงการก่อนหน้านี้ ซีเมนต์ที่ใช้ก็เป็นแบบโลว์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ 2.ของเสียที่มีการบริหารจัดการ เช่น เรื่องน้ำ มีการรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ 3. พลังงานที่ใช้ มีการลดคาร์บอนได้มากน้อยขนาดไหน จากการปรับปรุงกระบวนการทำงาน WHA มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับส่องสว่างบนถนนในนิคมใช้ 4. การชดเชยคาร์บอนเครดิต เช่นแผนการปลูกป่าเพื่อนำมาชดเชยคาร์บอน

WHA

ไกรลักขณ์ กล่าวว่า WHA Group เปิดธุรกิจใหม่ คือ  โมบิลิกซ์ ซึ่งเป็นโซลูชั่นกรีนโลจิสติกส์ครบวงจร โดยส่งเสริมให้ธุรกิจขนส่งหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้มีทั้งรถกระบะ รถบรรทุก รถยนต์โดยสาร และจักรยานยนต์ไฟฟ้า  เพื่อมุ่งเปลี่ยนผ่านระบบขนส่งของประเทศไทยจากรถสันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า นี้คือการเข้าไปเปลี่ยนระบบซัพพลายเชน ปัจจุบันมี 3 บริการหลักได้แก่ ธุรกิจให้เช่ารถยนต์และรถขนส่งไฟฟ้า สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมโมบิลิกส์ซอฟต์แวร์โซลูชัน  ซึ่งเป็น แพลตฟอร์มดิจิทัลอัจฉริยะช่วยบริหารจัดการรถยนต์ไฟ้ฟ้าได้สะดวก เจ้าของรถสามารถดูสภาพรถยนต์ และแบตเตอรี่ได้แบบเรียลไทม์ ช่วยควบคุมการขับขี่และบำรุงรักษารถได้ สามารถบริหารการชาร์ตไฟในแต่ละที่ที่รถจะไปถึง ระบบการจองจุดชาร์จ ขณะเดียวเมื่อรถขนส่งมาจอดในพื้นที่ของนิคม เรามีจุดชาร์จไฟที่ไฟฟ้าได้มาจากโซลาร์รูพท๊อปของพื้นที่นิคม

WHA

นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญเรื่องขยะ วันนี้นิคมอุตสาหกรรมมีขยะปีละ 5 แสนตัน ต้องหาวิธีหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ รอความพร้อมของตลาดและเทคโนโลยี และพยายามจับคู่ธุรกิจเพื่อนำขยะอุตสาหกรรมของคนหนึ่งไปใช้ประโยชน์ต่อกับอีกคนหนึ่งได้

WHA

ณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ถึงแม้เราดำเนินธุรกิจนิคม  แต่สิ่งที่เรามองควบคู่กัน คือการพัฒนาด้านความยั่งยืน อย่างเรื่อง Carbon Neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ทางเทคนิคเรามีตัวเลข และสิ่งที่ทำได้อีกคือ “การขนส่ง”ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ตั้งเป้าว่าถ้าสนับสนุนให้เกิดรถขนส่งไฟ้ฟ้าได้ 20,000 คันภายใน 5 ปี  เท่ากับลดการปล่อยคาร์บอนได้ 2.8 แสนตันเทียบเท่าต่อปี หรือคำนวณเท่ากับปลูกป่า 2.8 แสนไร่ นับเป็นเป้าที่เราตั้งไว้

WHA

** “ทรัมป์” มาสัญญาณส่งออกแย่รัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

WHA

ในเวทีเสวนา “ESG: Shape the Future with Sustainability Growth and Circularity​” ได้ให้มุมมองและความคิดเห็นต่อการขึ้นมา ดำรงตำแหน่งประธาธิบดีสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ โดย ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ  ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมเครือข่ายโกล บอลคอมแพ็กแห่งประเทศ  กล่าวว่า การขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธาธิบดีของทรัมป์ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยคือ ปีหน้าการส่งออกอาจไม่ดี แต่ WHA ในฐานะที่ทำคลังสินค้าอาจจะดี เพราะมีสินค้าค้างสต๊อก แต่ไม่เสมอไปว่าข่าวร้ายจะเป็นเรื่องดีหากภาคการส่งออกกระทบมีดิสทรัป ทำให้การส่งออกไทยทรุดตัวลง ตอนนี้เรารู้ว่าค่าเงินบาทเสี่ยงอ่อนค่า 36 บาท บางคนก็บอกว่าดี กรณีสหรัฐที่อยู่ตรงข้ามกับจีน ประเทศไทยอาจมองว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเรามีสินค้าส่งออกไปสหรัฐ แต่สหรัฐทราบอยู่แล้วว่าไทยเป็นนอมินีการผลิตให้กับจีน มีโรงงานจากประเทศจีนเข้ามาตั้งฐานการผลิต ดังนั้นเราจะพึ่งพาการส่งออกอย่างเดียวไม่ได้ โดยรัฐต้องกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก การแสวงหาเงินลงทุนจากต่างประเทศ หรือการนำไอเอเข้ามาช่วยเพื่อลดของเสียจากการผลิต และลดต้นทุน

WHA

“ในกรณีที่ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่แล้ว ต้องหาวิธีคิดใหม่ในขณะที่ต้นทุนเท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิมต้องใช้นวัตกรรม แต่คิดเองทำเองอาจไม่รอด ต้องมีเพื่อนมาช่วยมาลองทดสอบ เพราะกติกาโลกเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราต้องการชนะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศรวมทั้ง ต้องมีส่วนร่วมซึ่งร่วมทั้งภาคประชาชนด้วย เขาต้องการสินค้าที่ช่วยลดโลกร้อน” ดร.ธันยพร กล่าว

WHA

ขณะที่ ณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ นโยบายภาครัฐอาจจะมีเปลี่ยน แต่ผู้บริโภคกับภาคธุรกิจอาจมองเรื่องโลกร้อนไม่เหมือนกับภาครัฐ แรงจูงใจที่เคยให้ในยุคก่อนอาจหายไป แต่สิ่งนั้นไม่ได้บอกว่าจะไม่เกิด แต่อาจเกิดในสเกลที่เล็กกว่า ซึ่งในยุคไบเดนมีแรงจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยน  แต่โดยส่วนตัวถ้าไม่มีแรงจูงใจก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ย้อนมาที่ WHA ยืนยันจะต้องทำ เพราะเรามองว่าโลกร้อนเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ทุกภาคส่วนปรับเปลี่ยนดังคำพูดที่ว่า  “ทุกๆวิกฤติจะมีโอกาส แต่ถ้าโลกร้อนเกิดขึ้นจะไม่เหลือโอกาส”

WHA

“ผลกระทบด้านการเมืองจากการดำรงตำแหน่งประธาธิบดีสหรัฐของ ทรัมป์ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายทางธุรกิจ นอกเหนือจากความท้าทายการทำสงครามของรัฐเซีย ยูเครน และความขัดแย้งระหว่างจีนกับอเมริกา เป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องสนใจ ต้องประเมินผลกระทบในการทำธุรกิจ”ประสิทธิ์ ไวยาวัจมัย พาร์ทเนอร์และกรรมการบริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด ให้ความเห็นทิ้งท้าย 

WHA

**WHA นำนวัตกรรมความยั่งยืนสู่ชุมชน

WHA

รักษ์พล กังน้อย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการนิคมอุตสาหกรรม บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของWHA อยู่ที่จังหวัดชลบุรี สร้างเมื่อปี 2535 ปัจจุบันนี้ มีทั้งหมด 12 แห่งในไทย และยังมีแผนที่จะขยายไปอีก  การก่อสร้างนิคมฯ จะพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นความเสี่ยงในการผลิต โครงข่ายถนน คำนึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใช้เทคโนโลยีสะอาด  ก่อนที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม จะมีกระบวนรับฟังความคิดเห็นของชุมชนโดยรอบ  เพื่อนำข้อมูลจากชุมชนมาเป็นมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การบริหารจัดการพื้นที่ในนิคม ยังใช้ “เอไอ”มาบริหารเพื่อให้เกิดปัญหาการจราจรน้อยที่สุด  การปลดปล่อยมลพิษให้น้อย จนถึงมาตรการป้องกันระบบน้ำแล้ง และเฝ้าระวังน้ำท่วม

WHA

ขณะเดียวได้นำเทคโนโลยีที่ดูแลความยั่งยืนที่ใช้ในโรงงานส่งมอบให้ชุมชน โดยนำโซลาร์เซลไปติดตั้งให้กับโรงเรียน  ทำให้ลดการใช้พลังงานในโรงเรียนได้ 30-40 % และที่สำคัญ ทำให้นักเรียนมีความรู้เรื่องพลังงานทดแทน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เกิด  “ระบบเทเลเมดิซีน”กับชุมชน

WHA

**การนิคมอุตสาหกรรมเดินหน้าสร้างความยั่งยืน 

WHA

นุชนาถ การสูงเนิน ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง)  บอกว่านิคมอุตสาหกรรมมีบทบาทส่งเสริมนิคมและชุมชนให้มีความยั่งยืนในด้านต่างๆ ในฐานะรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรม 62 แห่ง ทั่วประเทศใน 8 จังหวัด เดิมเรามีการพัฒนาพื้นที่ให้โรงงานเข้ามาใช้พื้นที่ แต่วันหนึ่ง เราเริ่มรู้จักคำว่า “CSR” คือความรับผิดชอบต่อสังคม ดำเนินการด้าน CSR ตั้งแต่ปี 42 จนผ่านไป10 ปี คำว่า “ความยั่งยืน”เข้ามา ต้องทำนิคมอุตสาหกรรมอยู่ได้อย่างยั่งยืน ระหว่างชุมชนและโรงงานอยู่ได้ ต่อมาในปี2553 เกิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยดูแลใน 5 มิติ คือกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ 

WHA

“ทุกวันนี้มีคำว่าลดก๊าซเรือนกระจก การเลือกใช้พลังงานสะอาด  การนำน้ำกลับมาหมุนเวียน ซึ่งเป็นสิ่งที่นิคมสนับสนุนตลอดมา เพื่อที่นิคมจะได้มีผลประกอบการที่ดี ลดค่าใช้จ่าย เมื่อมีผลประกอบการที่ดี สิ่งที่ไม่เคยลืมคือการทำกิจกรรมในการพัฒนากับชุมชน” ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง)  กล่าว

WHA

 อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมต้องการบุคลากร เพื่อรองรับการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

WHA

**ความท้าทายขาดแรงงานอาชีวศึกษาในพื้นที่อีอีซี

WHA

ประทีป จุฬาเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษาภาคตะวันออก EEC Model Type A เป็นการจัดการศึกษาตามข้อตกลงระหว่างสถาบันการศึกษากับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี  ให้มุมมองของการสร้างคนที่มีสมรรถนะ เพื่อเข้ามาทำงานในนิคมฯว่า ในพื้นที่อีอีซีในปี68 ต้องการแรงงานทำงานในพื้นที่ประมาณ 6 แสนคน มีทั้งระบบอาชีวศึกษา ปริญญาตรี และต้องการแรงงานที่จบสายอาชีวศึกษาถึง 50 % ขณะที่บางสาขาในประเทศไทยต้องการแรงงานถึง 3 หมื่นคน แต่ประเทศไทยผลิตได้หลักร้อย  เช่น “สาขาเซมิคอนดักเตอร์” ต้องการบุคลากรหลักหมื่นคน ดังนั้นผู้ประกอบการต้องการนำเข้าแรงงานจากฟิลลิปปินส์ เวียดนาม อินเดีย ในฐานะที่อยู่ภาคการศึกษาพยายามทำอย่างที่สุด โดยระหว่างเรียนให้เด็กเข้าไปอยู่ในโรงงาน 1 ปี ให้มีประสบการณ์จริงให้เท่าทันกับเทคโนโลยีการผลิต แน่นอนว่าทำอย่างไรก็ไม่พอ  ซึ่งผู้เรียนในระบบอาชีวศึกษาประมาณ 1 ล้านคน เป็นระดับปวช.5 แสน ปวส.ประมาณ 4 แสน ในปีการศึกษาจบปีละหลักหมื่น แต่ความต้องการคนงานปีละ 3-4 แสนคน จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องตัดสินใจอย่างดี ประกอบกับประชากรมีอัตราการเกิดน้อย แต่ในระบบการผลิตต้องการช่าง ต้องการเทคนิคเชียล  ซึ่งความต้องการเหล่านี้เด็กไม่เรียน ซึ่งเด็ก Gen Z ไม่ได้สนใจเรียนอาชีวศึกษา  โดยเฉพาะเทคโนโลยีชั้นสูงแรงงานไล่ตามไม่ทัน

WHA

 “ที่ผ่านมาภาคการศึกษาทำงานประสานความร่วมมือกับ WHA  ไม่ว่าจะเป็นโรงงานของจีน อเมริกาออสเตรเลีย ผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของบริษัท ทุกคนพอใจ ไม่ว่าจะสนับสนุนทุนการศึกษา ช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาคน ถือว่าเป็นโครงการต้นแบบของประเทศไทย จะกระจายไปสู่มหาวิทยาลัย เราต้องสร้างแพสชั่น สร้างต้นแบบให้รุ่นน้องๆเห็นภาพว่าเรียนแล้วจะไปทำงานอะไร ซึ่งบางคน ระหว่างเรียนก็เริ่มมีรายได้แล้ว เรียนจบแล้วถูกบริษัทจองตัว”

WHA

**WHA เติมเต็มระบบสุขภาพชุมชนสนับสนุนวัคซีนไข้หวัดใหญ่

WHA

พันจ่าเอกมนตรี ม่วงทำ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม  องค์การบริหารส่วนตำบลเขาคันทรงให้ภาพสุขอนามัยในชุมชน กล่าวว่า WHA ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อบต.เขาคันทรง หรือที่รู้จักกันว่าเป็นพื้นที่ “บ่อวิน” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรมล้อมรอบ   ก่อนหน้าที่จะมี  WHA ชุมชนมีรายได้ประมาณ 20 ล้านแต่ขณะนี้มีรายได้ 200 ล้านบาทแล้ว ที่ผ่านมา WHA ได้เข้ามาทำงานประชาคมร่วมกับชาวบ้าน โดยความชวยเหลือที่ชัดเจนคือการสนับสนุน “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” กับชุมชน  เรื่องนี้เป็นปัญหาของชุมชน เพราะกระทรวงสาธารณสุขมอบวัคซีนให้กับ รพ.สต.ปีละไม่เกิน 100 โดส ให้เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่เป็น NCDs ขณะที่ไปฉีดที่รพ.เอกชนต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 บาท ปีที่ผ่านมาชุมชนได้ประมาณ 300 โดส โดยได้รับการสนับสนุนวัคซีนมาตลอดระยะเวลา 5 ปี

WHA

 ชาวบ้านเห็นผลดี จากที่ไม่ได้ฉีดเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่อาการรุนแรง บางคนต้องนอนรพ. หลังจากฉีดวัคซีนไม่พบว่ามีอาการรุนแรง จึงแสดงความต้องการขอเพิ่ม นอกจากวัคซีนแล้วยังได้รับการสนับสนุนเครื่องมือแพทย์กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และให้งบประมาณสนับสนุนพัฒนาองค์ความรู้ ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

WHA

 “ตลอดระยะเวลาที่อยู่ร่วมกับ WHA เราได้ออกแบบนวัตกรรมป้องกันน้ำท่วมร่วมกัน ได้ทำอุปกรณ์แจ้งเตือนเมื่อมีฝนตกในปริมาณสูง เชื่อว่าเมื่อมีฝนตกในปริมาณสูง ชาวบ้านเราสามารถอพยพและเคลื่อนย้ายของขึ้นที่สูงได้ทัน ขณะเดียว WHA ก็คัดสรรโรงงานที่มีคุณภาพมาอยู่ในพื้นที่ของนิคม สังเกตที่ผ่านมาไม่มีเรื่องร้องเรียน”

WHA

**เสียงสะท้อนชาวบ้าน WHA สร้างงานสร้างอาชีพชุมชน

WHA

วิไลวรรณ พรายเพชร รองประธานกลุ่มสัมมาชีพชุมชนบ้านชากมะหาด กล่าวว่ากลุ่มมีสมาชิก 25 คน ทุกคนมีความดีใจที่ WHA เข้ามาสนับสนุนทำให้ทุกคนมีงานทำ

WHA

“เราเป็นชุมชน เราเป็นชาวบ้าน  เอื้อเฟื้อ เผื่อรายได้  กระจายความสุข” วิไลวรรณ พรายเพชร ปิดท้ายเวทีเสวนาช่วยสะท้อนภาพให้เห็นว่า นิคมอุตสาหกรรมสามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ในชุมชน การสนับสนุนองค์ความรู้และเงินทุนทำให้ชาวบ้าน มีรายได้มีงานทำเติบโตไปพร้อมๆกันกับ WHA

WHA